Friday, June 8, 2012

หนังสือที่คนไทยห้ามอ่าน

ต้องออกตัวก่อนเลยว่า ไม่ได้ยึดถือ ยึดติด ยึดมั่น ในอุดมคติ อุดมการณ์ หรือลัทธิ ใดๆ ไหนๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ไปอ่านเจอเข้าโดยบังเอิญ เห็นว่าน่าสนใจ แต่ยาว ยืด ย้วย เลยก๊อปเอามาแปะไว้อ่านในวันว่างๆ อะไรที่เค้า “ห้าม หรือ ต้องห้าม” มันช่าง….อืม… เพิ่มความอยากรู้อยากเห็นเข้าไปเยอะเลย 5555+ หากคุณๆ ท่านๆ สนใจ ผ่านเข้ามาอ่าน ก็ยินดีค่ะ

ขอขอบคุณที่มา > > http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=amspatta&month=08-02-2009&group=9&gblog=2

นอกจากหนังสือที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่มีหนังสือต้องห้ามเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ขณะที่ตลาดหนังสือก็ขยายตัวมากขึ้น รายงาน “ที่สุดในธุรกิจหนังสือ ปี ๒๕๔๘“ ของซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ พบว่า ในปีที่ผ่านมามีหนังสือไปขอเลขมาตรฐานประจำหนังสือ ๓๙,๘๕๐ ปก หรือเฉลี่ยมีหนังสือออกใหม่วันละ ๑๐๙ ปก (ตัวเลขนี้รวมทั้งวิทยานิพนธ์ หนังสือราชการ หนังสืองานศพ ที่ไม่เข้าสู่ระบบตลาดด้วย) และมีหนังสือเข้าร้านซีเอ็ด ๑๑,๖๕๑ ปก เฉลี่ยวันละ ๓๑.๙ ปก หนังสือขายดี ๕ อันดับแรก คือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่ม ๖, เกิดแต่กรรม เล่ม ๑, เล่ม ๒, เข็มทิศชีวิต และ คู่มือ Windows XP ฉบับสมบูรณ์ ขณะที่ประเภทของหนังสือที่คนไทยซื้ออ่านมากที่สุด คือ หนังสือเด็ก, วรรณกรรม, คู่มือเตรียมสอบ และคอมพิวเตอร์ และถ้ารวมงาน “มหกรรมหนังสือ” ที่จัด ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในเดือนเมษายนและตุลาคมของทุกปี ที่มีคนเข้างานหลายแสนคนและมียอดขายหลายร้อยล้านบาทแล้ว ก็นับได้ว่าสังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้น แต่ถ้าพิจารณาเรื่องความหลากหลายแล้วกลับพบว่า มิได้ไปในทิศทางเดียวกับตลาดหนังสือ

ขณะที่นวนิยายแปลอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ มียอดขายเป็นอันดับ ๑ แต่ Don Qvixote de la Mancha นวนิยายที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งของโลก ต้องใช้เวลาถึง ๔๐๐ ปีกว่าจะมีต้นฉบับพากย์ไทยชื่อ ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน ถ้ามิใช่โอกาสที่สมเด็จพระราชาธิบดี ฆวน กาลอส ที่ ๑ และสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน เสด็จฯ เยือนประเทศไทย ก็ไม่แน่ว่าคนไทยจะได้อ่านวรรณกรรมคลาสสิกชิ้นนี้หรือไม่

ขณะที่ พระราชอำนาจ หนังสือการเมืองที่ตอกย้ำแนวคิดประวัติศาสตร์แบบ “ราชาชาตินิยม” ที่เป็นเรื่องเล่าสมัยใหม่ว่าด้วยการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ ขายดีเป็นอันดับที่ ๘ แต่หนังสือที่ตั้งคำถามต่อประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นเคยอย่าง การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี กลับไม่มีให้เห็นตามแผง ขณะที่หนังสือวัยใส แนวรักกุ๊กกิ๊ก ครองอันดับ ๑ หนังสือขายดีในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา ด้วยส่วนแบ่งสูงถึง ๓๐ % แต่หนังสือที่เป็นปากเสียงของเยาวชนไทยกลับไม่มีให้เห็น
ขณะที่นิตยสารบันเทิง นิตยสารผู้หญิง-ความงาม เปิดตัวกันอย่างคึกคักทั้งหัวในและหัวนอก แต่นิตยสารที่ว่าด้วยการเมือง สารคดี สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ กลับหยุดนิ่ง และบางฉบับต้องปิดตัวลง ขณะที่หนังสือประเภท “รู้ทันทักษิณ” มีให้เห็นกันเกลื่อนแผง แต่กว่าที่จะมีปรากฏการณ์อย่างนี้ก็ต้องรอให้ขึ้นปีที่ ๔ ของการบริหารประเทศของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

ปัจจุบันหนังสือส่วนใหญ่ออกมาชื่นชมและให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ แต่หนังสือที่ออกมาตั้งคำถามกับความถูกต้องชอบธรรมของการรัฐประหารอย่างตรงไปตรงมายังไม่ปรากฏ และหนังสือ " กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม " จัดว่าเป็นหนังสือต้องห้ามล่าสุดในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่โหมประโคมว่าเสรีภาพทางความคิด โดยไม่มีเหตุผลชี้แจงความจริงเท็จ ในหนังสือดังกล่าว

ไม่ห้ามหนังสือ ใช่ว่าไม่มีหนังสือต้องห้าม-The King Never Smiles

เนื่องจากหนังสือ The King Never Smiles เขียนโดย Paul M. Handley เป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทย ดังนั้นผู้แปลจึงทำการแปล เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์และการเมืองไทยในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งผู้แปลหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับชาวไทยทั่วไปที่ไม่มีโอกาสได้อ่านต้นฉบับภาคภาษาอังกฤษ

หนังสือเล่มนี้ เปรียบเหมือนกระจกที่ใสสะอาด สะท้อนให้เห็นระบบการเมืองที่มีกษัตริย์อยู่เบื้องหลังการปกครองประเทศไทย หนังสือได้บ่งบอกถึงการสร้างภาพพจน์ให้กษัตริย์เป็นเหมือนพระเจ้า ย้อนหลังไปถึงสมัยอาณาจักร์สุโขทัย ที่ใช้ลัทธิความเชื่อทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา มามอมเมาประชาชนไทย เพื่อเป็นการง่ายต่อการสถาปนาราชวงศ์ และสร้างพื้นฐานทางอำนาจให้กับสถาบันกษัตริย์มาเป็นเวลาหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบันนี้ อีกทั้งหนังสือเล่มนี้เขียนโดยชาวต่างชาติที่มีประสพการณ์ในประเทศไทยหลายปี จึงถือได้ว่าเป็นงานเขียนที่มีมุมมองเป็นกลางและปราศจากการครอบงำทางความคิด ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว การเขียนหรือการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย เป็นการเขียนในทางบวกหรือโฆษณาชวนเชื่อแต่เพียงฝ่ายเดียว หากมีการเขียนที่ผิดแผกแตกต่างไปแล้วรวมทั้งในทางลบ หรือมีการวิพากษ์วิจารณ์ตามเหตุผลและความเป็นจริง จะถูกตอบรับด้วยกฎหมายหมิ่นฯ ซึ่งมีผลลงโทษที่น่ากลัว และสร้างความเสียหายต่อครอบครัวของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

การแปลเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ต้องการที่จะหลีกเลี่ยงการใช้คำราชาศัพท์ที่ไม่จำเป็น และอยู่บนพื้นฐานภาษาไทยอย่างสามัญชนทั่วไป เพื่อเป็นการคงรูปภาษาอังกฤษต้นฉบับ ซึ่งไม่มีการใช้คำศัพท์ที่ยกย่องศักดินา

การที่ใช้ชื่อเรื่องเป็นภาษาไทยว่า กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม ก็เพราะสาเหตุดังต่อไปนี้คือ

1.เป็นการแปลภาษาไทยอย่างตรงตัว และสมเหตุสมผล ง่ายต่อความเข้าใจ
2.กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม เป็นคำอุปมาหรือ Metaphor โดยที่ผู้แต่งคือ Paul M. Handley ได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่า การที่หนังสือมีชื่อเรื่องว่า The King Never Smiles หรือ กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม ก็เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า กษัตริย์ไทยพยายามหลีกเลี่ยงการยิ้ม ดังที่เห็นจากภาพถ่ายครึ่งตัวอย่างเป็นทางการส่วนมาก (portrait) เพื่อที่สร้างภาพพจน์ตนเองให้ดูสุขุมนิ่งคล้ายเช่น พระโพธิสัตว์ หรือพระพุทธเจ้าที่ชาวไทยต่างเชื่อถือเคารพและบูชาตามวิถีทางศาสนาพุทธ

หนังสือเล่มนี้ มีประเด็นในการเขียน(Thesis Statements)หลักอยู่ 2 ประเด็นคือ

1.เป็นเวลากว่าหกสิบปีที่ สถาบันกษัตริย์สนับสนุนให้ทหารทำการปฏิวัติล้มล้าง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
2.กษัตริย์ภูมิพล ได้ใช้กุศโลบายทางวัฒนธรรม ประเพณีไทย สร้างความนิยมแก่ประชาชนไทย เพื่อกอบกู้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ของตนเองคืนมา (หรือที่เรียกกันอย่างไทยๆว่า ระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข)  ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้อ่านที่จะไตร่ตรองจากเนื้อหาของหนังสือทั้งหมด รวมทั้งควรอ่าน NOTES/INDEX หน้าหลังๆของหนังสือที่มีข้อมูลอ้างอิงต่างๆ เพื่อพิจารณากันว่าเหตุผลและเนื้อหาที่ผู้เขียนคือ Paul Handley เขียนพิสูนจ์ประเด็นทั้งสองได้อย่างชัดเจนแค่ไหน

ปฐมบทแห่งการห้าม-สรรพวิชาปาปิรัส

๒๔๔๗ ปีที่แล้ว ผลงานของโปรตากอรัส นักปรัชญาชาวกรีก ถูกเผากลางกรุงเอเธนส์ ๑๙๘ ปีต่อมา จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกที่รวมแผ่นดินจีนไว้จนเป็นปึกแผ่นด้วยการสร้าง “อาณาจักรแห่งความกลัว” ทรงสั่งเผาหนังสือทุกเล่มในราชอาณาจักร รวมทั้งทรงบัญชาให้สังหารนักปราชญ์จำนวนมากที่ทรงเห็นว่าเป็นศัตรู แต่การทำลายหนังสือครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๔๙๕ เมื่อ จูเลียส ซีซาร์ ได้กรีธาทัพเข้าสู่เมืองอเล็กซานเดรีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอียิปต์) พร้อม ๆ กับการสั่งเผา “หอสมุดอเล็กซานเดรีย” หอสมุดที่ดีที่สุดของโลกยุคโบราณ ที่บรรจุม้วนปาปิรัสซึ่งมีสรรพวิชาความรู้ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๔ แสนม้วน รวมทั้งมีการจัดทำหมวดหมู่ บทวิจารณ์ เรื่องย่อของหนังสือทุกเล่ม และนี่เองที่เป็นจุดสิ้นสุดของอารยธรรมกรีก-โรมันที่เริ่มต้นตั้งแต่ ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล

ไม่เพียงแต่อำนาจรัฐเท่านั้นที่ “ห้ามหนังสือ” ในยุคกลางซึ่งคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกมีอิทธิพลอย่างมาก บรรดาพระผู้ใหญ่ที่มาประชุมกันในปี พ.ศ. ๒๑๐๒ มีความเห็นร่วมกันให้จัดทำ Index Librorum Prohibitorum (Index of Forbidden Books) ประกาศรายชื่อหนังสือที่เห็นว่าเป็นภัยต่อศรัทธาของชาวโรมันคาทอลิก โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมรายชื่อหนังสือและนักเขียนต้องห้ามอยู่ตลอดเวลา จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๑ มีการปรับปรุง ๓๒ ครั้ง มีรายชื่อหนังสือต้องห้ามบรรจุไว้กว่า ๔,๐๐๐ เล่ม ซึ่งในรายชื่อเหล่านั้นประกอบไปด้วยผลงานของนักคิดคนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น กาลิเลโอ วอลแตร์ เรื่อยมาจนถึง วิกเตอร์ ฮูโก ลีโอ ตอลสตอย เจมส์ จอยซ์ ฯลฯ

ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ที่น่าสะพรึงกลัว คือการขึ้นมาของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมนีผู้ใฝ่ฝันที่จะสร้างอาณาจักรไรซ์ที่ ๓ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ฮิตเลอร์ได้บัญชาการให้นายพอล โจเซฟ กอบเบลส์ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อ (Ministry of Propaganda) เป็นผู้นำในการเผาหนังสือจำนวนกว่า ๒ หมื่นเล่มต่อหน้าฝูงชนนับแสนกลางกรุงเบอร์ลิน ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๗๖ กอบเบลส์ได้กล่าวปราศรัยต่อหน้าฝูงชนว่า “คืนนี้ ท่านกำลังทำสิ่งถูกต้องแล้วที่โยนอดีตอันลามกอนาจารลงในเปลวเพลิง” หลังจากนั้นไม่นาน ฮิตเลอร์ได้นำเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการสังหารชาวยิวไปกว่า ๖ ล้านคน และมีคนล้มตายทั่วโลกกว่า ๖๒ ล้านคน

นานมาแล้ว ไฮน์ริช ไฮเนอ กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า  “ถ้าที่ไหนเผาหนังสือกันได้ ก็ไม่ต้องแปลกใจที่ต่อไปจะเผาคน”

แรกห้ามในสยาม-หนังสือกฏหมายของหมอบรัดเลย์

แม้การอ่าน-เขียนจะไม่เป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายของสังคมสยามมาแต่ก่อน แต่หนังสือก็เป็นมากกว่าวัตถุที่บันทึกตัวอักษร ดังนั้นคนสมัยก่อนจึงมีความเคารพหนังสือ (แม้จะอ่านไม่ออกก็ตาม) เพราะเชื่อว่าหนังสือมีความศักดิ์สิทธิ์ เห็นได้จากเรื่องเล่าถึงการค้นพบ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ ที่ว่า หลวงประเสริฐอักษรนิติ์เดินไปพบยายแก่คนหนึ่งกำลังเอาสมุดข่อยมาเผา จึงได้เข้าไปขอดูและได้ค้นพบเอกสารชิ้นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การเผาหนังสือดังกล่าวไม่ได้เกิดจากเจตนาที่จะทำลายหนังสือ หากแต่ยายแก่คนนั้นต้องการจะนำขี้เถ้าจากการเผาไปผสมทำยาเพราะเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของหนังสือต่างหาก แต่การทำลายหนังสือก็มิใช่ไม่เคยมีในสังคมสยาม ใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้ปรากฏเหตุการณ์ “คนตื่นเอาตำราคุณไสยทิ้งน้ำ” ในปี พ.ศ. ๒๑๗๘ เมื่อพระเจ้าปราสาททองเสด็จฯ ไปพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าลูกเธอฝ่ายใน ณ วัดไชยวัฒนาราม พบเนื้อในท้องเผาไม่ไหม้ ทำให้สงสัยว่าโดนคุณไสย จึงเกิดข่าวลือว่าจะมีการค้นตำรับตำราตามบ้านเรือน ทำให้ผู้แก่ผู้เฒ่าที่มีตำราคุณไสยต่างเอาหนังสือไปทิ้งน้ำเสียเนื่องจากกลัวความผิด

กว่าที่การห้ามหนังสือจะเกิดขึ้นในสยามก็ต้องรอจนถึงปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แต่หลายคนเมื่อได้รู้ว่าหนังสือเล่มแรกที่ถูกห้ามในสยามนั้นเป็นหนังสือว่าด้วยเรื่องอะไร ก็อาจตั้งคำถามว่าทำไมต้องห้าม ? เพราะมันเป็นหนังสือกฎหมาย

เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่เราใช้มโนทัศน์ในปัจจุบันที่ว่า ทุกคนเสมอภาคภายใต้กฎหมาย “การไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้ออ้างให้พ้นผิด” ไม่ได้ เพราะในยุคนั้นความรู้เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องของชนชั้นนำ รวมทั้งมันยังถูกเก็บไว้ในสถานที่ “ต้องห้าม” อีกด้วย

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อนายโหมด อมาตยกุล ต้องขึ้นศาลในคดีมรดก นายโหมดได้แอบจ้างคัดลอกกฎหมายที่โรงอาลักษณ์เป็นเงิน ๑๐๐ บาท จนได้ต้นฉบับนำมาพิมพ์เผยแพร่โดยหวังว่าจะได้ช่วยคนที่ไม่รู้กฎหมายและนำเงินมาหักลบต้นทุนที่ลงไป นายโหมดได้นำต้นฉบับดังกล่าวไปว่าจ้างให้หมอบรัดเลย์พิมพ์เป็น หนังสือกฎหมายไทย จำนวน ๒๐๐ ชุด ชุดละ ๒ เล่ม เป็นเงิน ๕๐๐ บาท ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๐-๒๓๙๓

ทันทีที่หนังสือเล่มแรกออกมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว มีรับสั่งให้นำตัวนายโหมดและพวกลูกจ้างของหมอบรัดเลย์ไปสอบ รวมทั้งริบหนังสือกฎหมายนั้น แต่ก็มิได้มีรับสั่งให้นำไปเผาหรือทำลายเพราะความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของหนังสือ เพียงรับสั่งว่าเมื่อพระเจดีย์ที่วัดสระเกศสร้างแล้วเสร็จให้นำหนังสือที่ริบมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ทั้งหมด

กำธร เลี้ยงสัจธรรม ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุของการ “ริบหนังสือ” ครั้งนั้นไว้ว่า เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าหากหนังสือกฎหมายตกอยู่ในมือของคนทั่วไปแล้ว “พวกเจ้าถ้อยหมอความ” จะนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับคดโกง ทำให้เกิดความยุ่งยากต่อบ้านเมือง นอกจากนี้การกระทำของนายโหมดยังถือเป็นการละเมิดต่อธรรมเนียมการศึกษากฎหมายที่สงวนไว้เฉพาะเจ้านายและขุนนางจำนวนน้อยเท่านั้นด้วย แต่เมื่อผลัดแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเปิดรับวิทยาการสมัยใหม่มากกว่า ก็มีรับสั่งว่า “จะต้องให้เอากฎหมายตีพิมพ์ขึ้นไว้อีกจะเป็นคุณกับบ้านเมือง” และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เอาหนังสือที่ริบไว้คืนแก่นายโหมด พร้อมทั้งทรงรับซื้อไว้จำนวนหนึ่งเพื่อแจกแก่โรงศาลทุกแห่ง ถือเป็นการเปิดยุคของการศึกษากฎหมายอย่างเสรีจากที่ก่อนหน้านั้นเป็นวิชาต้องห้าม

เมื่อความคิด ความรู้ ถูกท้าทาย-นิราศหนองคาย-ก.ศ.ร. กุหลาบ-เทียนวรรณ
ปี พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมพรรษาเพียง ๑๖ พรรษา โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพียงต้นรัชกาล ก็ได้มีประกาศห้าม นิราศหนองคาย ของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) มูลเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองสมัยนั้น ระหว่างสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าสายตระกูลบุนนาคซึ่งกุมอำนาจไว้ทั้งหมด กับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเกิดสงครามปราบฮ่อ ทั้งสองได้ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในการจัดทัพ ทำให้นายทิมซึ่งเป็นคนของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ฯ ต้องออกมา “เถียงแทนนาย” ผ่าน นิราศหนองคาย โดยหาว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ สั่งเดินทัพในฤดูฝนเป็นการไม่สมควร ทั้งยังเป็นการขาดเมตตาจิตต่อไพร่พล สมเด็จเจ้าพระยาฯ โกรธมาก จึงนำเรื่องเข้ากราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งผลให้มีการสั่งเผา นิราศหนองคาย และลงโทษนายทิมด้วยการโบย ๕๐ ทีและจำคุก ๘ เดือน

ถึงแม้ว่าในยุคนี้สยามจะรับเทคโนโลยีจากตะวันตกจำนวนมาก แต่วิชาความรู้ก็ยังจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นนำ หอสมุดของวังหลวงที่ตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๒๓ ก็เป็นเพียง “หอสมุดสำหรับราชตระกูล” ให้บริการเฉพาะเจ้านายและพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น นี่ยังไม่ต้องเอ่ยถึงระบอบการปกครองที่ไกลกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่แม้ใครเพียงคิด ก็จะกลายเป็นพวก “ราดิกัล” (หัวรุนแรง) ไปเสียทุกคน

แต่ในยุคนี้เองที่สามัญชน ๒ ท่าน คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ และ เทียนวรรณ ได้รังสรรค์ความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งคู่มีความเหมือนกันหลายประการ เช่น การได้รับการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม การได้เดินทางไปต่างประเทศ การมีทักษะด้านภาษาอังกฤษ รวมทั้งการเขียน/การทำหนังสือ ท่านแรกมีความสำคัญในการ “เหลียวมองหลัง” สืบเสาะค้นหาและรวบรวมความรู้ที่ถูกหวงห้ามไว้เฉพาะชนชั้นสูง ขณะที่ท่านต่อมาเป็นผู้ที่ “แลไปข้างหน้า” มีจินตนาการเกินกว่าระบอบการปกครองในขณะนั้น นอกจากนี้ทั้งคู่ยังมีชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน นั่นคือถูกพิพากษาจากอำนาจรัฐ คนแรกถูกทำให้กลายเป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้ ขณะที่อีกคนถูกขังลืมเกือบ ๑๗ ปี

ก.ศ.ร. กุหลาบ (๒๓๗๗-๒๔๕๖)
ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการทำลายการผูกขาด “ความรู้” ของชนชั้นนำในยุคนั้น โดยเริ่มจากการออกอุบายขอยืมหนังสือจากหอหลวงมาอ่าน แล้วจ้างอาลักษณ์คัดลอก การทำเช่นนี้ดำเนินต่อเนื่องมานานนับปีจึงทำให้ท่านมีต้นฉบับจากหอหลวงเป็นจำนวนมาก ต่อมาท่านจึงนำความรู้ที่ได้มาพิมพ์เผยแพร่ ทั้งที่เป็นหนังสือเล่ม เช่น คำให้การของขุนหลวงหาวัด และที่นำลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สยามประเภท ที่จัดทำขึ้นเพื่อ “บำรุงปัญญาประชาชน” แต่ด้วยความที่ท่านทราบดีว่าการนำความรู้ที่หวงห้ามไว้มาเผยแพร่มีความผิด ท่านจึง “ดัดแปลง” บางข้อความเสีย ทว่าการกระทำดังกล่าวกลับนำโทษมาสู่ตัวเอง เมื่อท่านเขียนชีวประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สา) พระอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคลาดเคลื่อน จนมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ และได้ข้อสรุปว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ “เปนผู้แสดงความเท็จอวดอ้างตนให้คนเชื่อถือ เปนผู้ปั้นความที่ไม่จริงขึ้นลวงให้คนเชื่อผิด ๆ” หลังจากนั้น “กุ” จึงกลายเป็นคำที่หมายถึงการสร้างเรื่องขึ้นมาโดยไม่มีมูล ทั้ง ๆ ที่ความจริงมูลเหตุที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ต้อง “กุ” นั้นมาจากการหวงห้ามความรู้นั่นเอง

เทียนวรรณ (๒๓๘๕-๒๔๕๘)
เทียนวรรณ เป็นตัวแทนความคิดสมัยใหม่ที่มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงของสยามภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง ที่ส่งผลให้การค้าถือเป็นมาตรวัดความเจริญของประเทศ ท่านพยายามเปลี่ยนทัศนคติให้ชาวสยามหันมาทำการค้ามากกว่าจะมุ่งแต่เป็นข้าราชการ ท่านได้เห็นทั้งการเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลางและการคอร์รัปชันในระบบราชการ พอ ๆ กับการทราบถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก จึงเป็นที่มาของความกระตือรือร้นในการเปลี่ยนแปลงสยามสู่ความ “ศิวิไลซ์” ด้วยการเรียกร้อง “ปาลิเมนต์”, การเลิกทาส, ห้ามสูบฝิ่น ฯลฯ

เทียนวรรณได้ก้าวสู่การเป็นนักหนังสือพิมพ์โดยการออกหนังสือ ตุลวิภาคพจนกิจ และเปิดสำนักงานทนายความ “ออฟฟิศอรรศนานุกูล” อันเป็นเหตุให้ท่านถูกกลั่นแกล้งจนตกเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นตราราชสีห์ จากการที่มีผู้มาหลอกลวงให้เขียนใบฎีกา ส่งผลให้ท่านถูกโบย ๕๐ ที และถูกขังลืมเกือบ ๑๗ ปี ในระหว่างนั้นท่านได้เขียนงานที่ทรงคุณค่าและมาก่อนกาลเป็นจำนวนมาก ก่อนจะสิ้นอายุขัยในวัย ๗๓ ปี ได้มีเด็กนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยคนหนึ่งเข้ามาคุยด้วย เราไม่ทราบว่าทั้งสองคุยกันเรื่องอะไร แต่อีก ๑๖ ปีต่อมา นักเรียนหนุ่มผู้นั้นได้เป็นมันสมองของคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน (เด็กคนนั้นก็คือ นักเรียนกฏหมายชื่อ ปรีดี พนมยงค์)

เศรษฐศาสตร์ต้องห้าม-หนังสือทรัพย์ศาสตร์

ความทุกข์ยากของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งจากพ่อค้าคนกลางและพ่อค้าส่งออก ส่งผลให้พระยาสุริยานุวัตรเขียน ทรัพย์ศาสตร์ ขึ้น ทั้งในแง่ของการวิเคราะห์และชี้ทางออก แต่หนังสือเล่มนี้กลับถูกห้าม ถึงแม้เศรษฐศาสตร์จะเป็นวิชาที่ศึกษาได้ทั่วไปในปัจจุบัน แต่ถ้าค้นลงไปในประวัติศาสตร์กลับพบว่า ก่อนปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาต้องห้าม เห็นได้จากที่มีการห้ามหนังสือ ทรัพย์ศาสตร์ ของพระยาสุริยานุวัตร การห้ามหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งถือกันว่าเป็น “ยุคทองของนักหนังสือพิมพ์”

พระยาสุริยานุวัตร อดีตเสนาบดีกระทรวงพระมหาสมบัติ นอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารนโยบายเศรษฐกิจแล้ว ท่านยังมีความเชื่อเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจด้วย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเสนอให้โอนกิจการฝิ่นจากเจ้าภาษีนายอากรมาสู่รัฐบาลเพื่อขจัดการรั่วไหลของรายได้ และจะได้นำเงินมาพัฒนาประเทศ แต่เมื่อนโยบายถูกต่อต้านจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีพระราชหัตถเลขาแนะนำให้ท่านลาออก ชีวิตราชการของท่านจึงยุติด้วยวัยเพียง ๔๕ ปี

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ท่านก็ได้อุทิศเวลาที่เหลือทุ่มเทให้แก่การเขียนตำราทางเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของสยามที่ชื่อว่า ทรัพย์ศาสตร์ เนื้อหาในเล่มนอกจากการวิจารณ์การดำเนินนโยบายที่ไม่ส่งเสริมการสะสมทุน จนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศล้าหลังแล้ว ท่านยังชี้ให้เห็นการขูดรีดส่วนเกินทางเศรษฐกิจของชาวนาไปให้แก่พ่อค้าคนกลางและพ่อค้าส่งออกในรูปแบบของการปล่อยกู้ดอกเบี้ยสูงและการกดราคาข้าวเปลือกอีกต่อหนึ่ง ทันทีที่ ทรัพย์ศาสตร์ ๒ เล่มแรกตีพิมพ์ออกมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ (จากที่วางแผนไว้ว่าจะมีทั้งหมด ๓ เล่ม) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีรับสั่งให้พระยาสุริยานุวัตรยุติการเขียน หลังจากนั้นทรงเขียนบทวิจารณ์ “ทรัพย์ศาสตร์ (เล่ม ๑) ตามความเห็นของเอกชนผู้ได้อ่านหนังสือเท่านั้น” ในนามปากกา “อัศวพาหุ” ลงในวารสาร สมุทรสาร ทรงเห็นว่า ทรัพย์ศาสตร์ จะทำให้คนไทยแตกแยกเป็นชนชั้น เพราะในสยามประเทศนั้น เว้นแต่พระเจ้าแผ่นดินแล้ว “ใคร ๆ ก็เสมอกันหมด” ทรงเห็นว่าผู้เขียน “ตั้งใจยุแหย่ให้คนไทยเกิดฤศยาแก่กันและแตกความสามัคคีกัน” เพราะเขียนเรื่องความต่างทางรายได้ ทรัพย์ศาสตร์ จึงต้องยุติลงเพียงเล่ม ๒ เท่านั้นท่ามกลางความทุกข์ใจอย่างยิ่งของผู้เขียน และเมื่อผลัดแผ่นดิน เหตุการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลง เพราะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นถึงกับมีการแก้ไขกฎหมายอาญากำหนดความผิดของการสอนลัทธิเศรษฐกิจ โดยมีโทษสูงสุด ๑๐ ปี และให้ปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ทรัพย์ศาสตร์ จึงกลายเป็นหนังสือต้องห้ามสมบูรณ์แบบ  กว่าที่วิชาเศรษฐศาสตร์จะกลับมาสู่สาธารณะอีกครั้งก็เมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๗ “ลัทธิเศรษฐกิจ” ได้รับการบรรจุเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต และพระยาสุริยานุวัตรก็ได้เขียนทรัพย์ศาสตร์ เล่ม ๓ ออกมาในชื่อ เศรษฐศาสตร์และการเมือง

หลังจากนั้นไม่นานท่านก็ถึงแก่กรรมในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๗๙ เหลือทิ้งไว้แต่มรดกล้ำค่าที่คนจะจดจำไปตลอดกาล นั่นคือหนังสือที่ชื่อ ทรัพย์ศาสตร์ (ภายหลังได้ถูกประยุกต์ดัดแปลงเป็น ทฤษฏีเกษตรพอเพียง)

รุ่งอรุณแห่งเสรีภาพ ขณะฟ้ายังครึ้มฝน -สมุดปกเหลือง

การปฏิวัติสยาม ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มิได้เป็นเพียงการเปลี่ยนระบอบการปกครองเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนสำนึกของผู้คนและเป็นการทำลายทำนบของการห้ามหนังสือจำนวนมาก

“ผมกับเพื่อนรุ่นหนุ่มอีกสองสามคนชักชวนกันแสวงหาคำตอบจากหนังสือต่าง ๆ ซึ่งเดิมโรงเรียนห้ามไม่ให้อ่าน เพราะเป็นบาป เช่น หนังสือของรุสโซ วอลแตร์ โซลา และหนังสือประวัติการปฏิวัติของฝรั่งเศส” (ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ,๒๕๑๕)

การปฏิวัติสยาม ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎร ไม่เพียงแต่เปลี่ยนอำนาจการเมืองเท่านั้น แต่ความคิดความรู้ของผู้คนจำนวนมากก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้น ม. ๘ โรงเรียนอัสสัมชัญ หันมาสนใจการบ้านการเมืองมากขึ้น พร้อม ๆ กับการขวนขวายอ่านหนังสือที่ถูกประทับตราว่าเป็นหนังสือต้องห้ามของโรงเรียนโรมันคาทอลิกอย่างอัสสัมชัญ

ทว่าช่วงเวลาของเสรีภาพต้องสะดุดเมื่อหนังสือ เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ หรือที่รู้จักกันในนาม “สมุดปกเหลือง” ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ออกมา เอกสารภายในที่จัดพิมพ์ไม่เกิน ๒๐๐ เล่ม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (ปีปฏิทินเก่า) ได้ก่อให้เกิดความเห็นแตกออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่านี่จะเป็นหนทางนำความผาสุกมาสู่สยาม ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่านี่เป็นโครงการของคอมมิวนิสต์ ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นจนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ต้องทำการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ โดยการ “ปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา” ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ และในวันรุ่งขึ้นก็ได้มีการประกาศใช้ “กฎหมายคอมมิวนิสต์” ซึ่งมีไว้เล่นงานนายปรีดี พนมยงค์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะ จนมีการประกาศห้ามหนังสือสมุดปกเหลืองด้วยเหตุว่า “แสลงไปในทางการเมือง...เหลื่อมไปในทางลัทธิคอมมูนิสม์”

นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองในวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ จากนั้นในวันต่อมาก็มีหนังสือ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ออกมาแจกจ่ายจำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม เนื้อหาในเล่มมุ่งโจมตีนายปรีดี เช่นข้อความที่ว่า “โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ หรือหลวงประดิษฐ์จะเอาอย่างสตาลิน”

ถึงแม้ต่อมาอำนาจการเมืองจะหมุนกลับมาที่คณะราษฎรจากการยึดอำนาจคืนในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ แต่พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนใหม่ กลับแก้ปัญหาด้วยการขอร้องมิให้รื้อฟื้นเรื่องขึ้นมาอีก โดยบอกว่า “ช่วยกันปล่อยให้ลืมเสียเถิด เพื่อเห็นแก่ความสงบสุขของบ้านเมือง” หลังจากนั้นสมุดปกเหลืองก็หายไปจากการเมืองไทยกว่า ๒๐ ปี ขณะที่ข้อหาคอมมิวนิสต์ได้ติดตัวนายปรีดีไปตลอดชีวิต แต่สมุดปกเหลืองก็เป็นจุดสะดุดเดียวเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นได้มีการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อให้เป็น “บ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้” ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๗ วิชา “ต้องห้าม” เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง ฯลฯ ก็เปิดสอนอย่างเปิดเผย และการเป็นตลาดวิชาก็ทำให้มีผู้สมัครเรียนในปีแรกถึง ๗,๐๔๙ คน หนึ่งในนั้นคือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นักเรียนอัสสัมชัญผู้ได้รับผลสะเทือนโดยตรงจากการปฏิวัติสยาม

จอมพล ป. เมื่อมอญครองเมือง-หนังสือพิมพ์
“ เพราะเรามีนักการเมืองที่ใจแคบและมีความคิดบ้องตื้นเช่นนั้น หนังสือพิมพ์ของเราจึงต้องเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ” กุหลาบ สายประดิษฐ์ (๒๕๐๐) การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วม ๑๖ ปี ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (๒๔๘๑-๒๔๘๗, ๒๔๙๑-๒๕๐๐) มีความสำคัญยิ่งต่อสังคมไทย หลายอย่างที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันเป็นผลผลิตมาจากการเมืองยุคนั้น และหนึ่งในนั้นคือ “แอก” สำคัญของสิ่งพิมพ์ปัจจุบัน นั่นคือ พ.ร.บ. การพิมพ์ ๒๔๘๔ ยุคแรกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งบิดามารดาเป็นชาวมอญอพยพจากเมืองจิตตะกอง มาอยู่ที่ อ.สังขละ จึงมีนามสกุลว่า "จิตตะสังขละ" ตามประวัติเกี่ยวพันกับตระกูลมอญสายปันยารชุน

ยุคจอมพล ป.(๒๔๘๑-๒๔๘๗) เริ่มต้นด้วยการจับกุมฝ่ายตรงข้ามและตั้งศาลพิเศษพิพากษาประหารนักโทษการเมืองรวม ๑๘ คน พร้อมกันนั้นรัฐบาลก็ได้ดำเนินนโยบายชาตินิยมทางการทหารและต่อต้านคนจีน
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติขึ้นในยุโรปเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๘๒ ถึงแม้รัฐบาลจะประกาศวางตัวเป็นกลาง แต่ก็ได้อาศัยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงออก พ.ร.บ. การพิมพ์ ๒๔๘๔ เนื้อหาใจความของกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่มาตรา ๙ ที่ระบุว่า เมื่อเห็นว่าสิ่งพิมพ์ใด “อาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ก็สามารถ “ห้ามการขายหรือจ่ายแจก และให้ยึดสิ่งพิมพ์นั้น” ซึ่งเริ่มต้นด้วยการห้ามหนังสือภาษาจีน เช่น เลียกลือท้วน ตงกกชุดโล่ว ฯลฯ

เพียง ๒ เดือนให้หลัง ญี่ปุ่นก็บุกไทยในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ แต่รัฐบาลกลับร่วมมือกับญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดขบวนการใต้ดินต่อต้านรัฐบาลและขับไล่กองทัพญี่ปุ่น รัฐบาลถือโอกาสนี้เข้าควบคุมหนังสือพิมพ์ทุกประเภทหนักมือยิ่งขึ้น ข่าวการเมืองทุกชิ้นต้องส่งให้รัฐบาลพิจารณาก่อนตีพิมพ์ รวมทั้งมีการ “บังคับ” ให้หนังสือพิมพ์ลงข้อความโฆษณารัฐบาลที่หน้าปกทุกฉบับ เช่น “เชื่อผู้นำทำให้ชาติพ้นภัย” “ความปลอดภัยของชาติอยู่ที่เชื่อผู้นำ” ฯลฯ

ในช่วงนั้นถ้าจะเผยแพร่ความคิดโดยเสรีก็ต้องทำหนังสือ “ผิดกฎหมาย” เช่น มหาชน ฉบับใต้ดิน ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีไว้เพื่อต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. และกองทัพญี่ปุ่นโดยตรง ถึงแม้ว่าจะมีอำนาจอยู่ในมืออย่างล้นเหลือ แต่จอมพล ป. กลับแพ้ภัยตัวเองเมื่อแพ้การลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรในกรณีการย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ จนต้องลาออกจากตำแหน่ง และถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลเสรีไทยซึ่งได้นำประเทศไทยผ่านสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยไม่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ รัฐบาลหลังสงครามได้เปิดเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น มีการยกเลิก พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์ ๒๔๗๖ รวมทั้งอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ทำคือยกเลิก พ.ร.บ. การพิมพ์ ๒๔๘๔ แม้รัฐบาลจะปล่อยให้มีการรวมกลุ่มทางการเมืองอย่างเปิดเผย แต่เสรีภาพทางการเมืองก็เป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเมื่อเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ คณะรัฐประหารได้ตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ หุ่นเชิดจนถึงปี ๒๔๙๑ ต่อมาจอมพล ป. ก็กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ยุคที่ ๒ ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (๒๔๙๑-๒๕๐๐) เริ่มต้นด้วยการสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเช่นเดิม แต่ครั้งนี้การต่อต้านมีมากขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มนักหนังสือพิมพ์ที่มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะทำการต่อต้านในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนแล้ว นักหนังสือพิมพ์เหล่านี้ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย จนเป็นเหตุให้มีการจับกุมครั้งใหญ่ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ หรือที่รู้จักกันในนาม “กบฏสันติภาพ” พร้อม ๆ กับการกลับมาของ พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์ ในอีก ๓ วันต่อมา

สิ่งที่ต้องบันทึกไว้ด้วยก็คือ ยุคนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นระหว่าง “โลกเสรี” ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กับ “โลกคอมมิวนิสต์” ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ โดยที่รัฐบาลไทยมีจุดยืนเคียงข้างสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยที่หนังสือต้องห้ามกว่า ๒๕๐ รายการส่วนใหญ่มาจากสหภาพโซเวียต เช่น รวมเรื่องสั้นของกอร์กี้ โดย แมกซิม กอร์กี้ ลัทธิมาร์คซ์และการปฏิวัติ โดย เลนิน ความหมายสากลแห่งการปฏิวัติเดือน ๑๐ โดย สตาลิน

แต่อำนาจเผด็จการก็ไม่สมบูรณ์ ขณะที่นโยบายรัฐบาลคล้อยตามสหรัฐอเมริกาอยู่นั้น แนวคิดสังคมนิยมก็ถูกจุดให้เป็นทางเลือกของสังคมผ่านนักคิดนักเขียนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า “ฝ่ายก้าวหน้า” เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ อัศนี พลจันทร์ จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ พวกเขาไม่เพียงแต่มีฝีไม้ลายมือในการขีดเขียนเท่านั้น แต่ข้อเขียนที่สื่อออกสาธารณะยังกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงความฉ้อฉลของรัฐบาลและปลุกให้คนไม่ยอมจำนนกับระบอบเผด็จการ จนเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ทำการรัฐประหาร เป็นการปิดฉากทางการเมืองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยมีมรดกชิ้นสำคัญที่ทิ้งไว้คือ พ.ร.บ. การพิมพ์ ๒๔๘๔ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ “ห้ามหนังสือ” มาจนถึงปัจจุบัน

ยุคปืนปิดปาก-แลไปข้างหน้า-ประวัติจริงของอาQ

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาศัยอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ จับกุมนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมากไว้ในคุกลาดยาวโดยไม่มีการสอบสวน แต่ก็เป็นเพียงการจับกุมทางกายภาพเท่านั้น เพราะนักคิดนักเขียนเหล่านี้ยังเต็มเปี่ยมด้วยความคิดและอุดมการณ์ ต่อมา การ “รัฐประหารตัวเอง” ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ ก็ได้นำมาสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และพรรคการเมือง พร้อม ๆ ไปกับการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองแทบทุกด้าน สฤษดิ์สั่งจับกุมนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมาก คนที่เหลือถ้าไม่ลี้ภัยทางการเมืองก็ต้องยุติบทบาททางการเขียนลง หรือหากจะอยู่บนเส้นทางวรรณกรรมต่อไปก็ต้องเปลี่ยนไปเขียนเรื่องแนวโรแมนติก เช่นกรณีของ “รพีพร” หรือ สุวัฒน์ วรดิลก

สิ่งที่ขาดไม่ได้ของรัฐเผด็จการทุกแห่ง คือการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ และประกาศรายชื่อหนังสือต้องห้าม แต่ในยุคนี้ จากจำนวนหนังสือต้องห้ามทั้งหมดกว่า ๓๕๐ รายการ (ระหว่างปี ๒๕๐๑-๒๕๑๖) กลับมีหนังสือของนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าถูกห้ามเพียง ๒ เรื่องเท่านั้น คือนวนิยาย แลไปข้างหน้า ของ ศรีบูรพา และงานแปล ประวัติจริงของอาQ แต่งโดย หลู่ซิ่น ที่เหลือ ถ้าไม่ใช่หนังสือโป๊ซึ่งมีทั้งไทยและเทศ ก็เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับประเทศคอมมิวนิสต์ ถ้าไม่เป็นภาษาจีนก็เป็นภาษาอังกฤษ การห้ามหนังสือในยุคนี้จึงมิได้เกิดจากผลทางกฎหมายเท่านั้น แต่มาจากความหวาดกลัวต่ออำนาจที่มีอย่างล้นเหลือของสฤษดิ์ จนกลายเป็นวัฒนธรรมเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งไม่เพียงแต่นักเขียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ ร้านหนังสือด้วย

จริงอยู่ที่อำนาจเผด็จการอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะห้ามหนังสือ เพราะถ้ามีคนต้องการอ่าน ก็ต้องมีคนผลิต ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม แต่ที่สฤษดิ์ทำสำเร็จคือการสะกดความใฝ่ฝันของสังคมโดยทำให้หนทางอื่นที่ไม่ใช่หนทางเผด็จการเป็นไปไม่ได้ พร้อมกับเสนออุดมการณ์ “พัฒนา” มาเป็นหนทางไปสู่การสร้างความสำเร็จให้แก่สังคม ผ่านการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติในปี ๒๕๐๔ นี่คงเพียงพอที่จะอธิบายว่า ทำไมแผงหนังสือจึงไม่มีที่ว่างให้หนังสือที่ท้าทายอำนาจเผด็จการ
ประวัติจริงของอาQ

แปลมาจากงานเขียนของหลู่ซิ่น เป็น ๑ ใน ๒ เล่มงานเขียนฝ่ายก้าวหน้าที่ถูกห้ามในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ก็ใช่ว่างานเขียนของฝ่ายก้าวหน้าจะสูญหายไปจากสังคมไทย เพราะนักคิดนักเขียนจำนวนมากยังคงผลิตงานของตนอยู่อย่างเงียบ ๆ ในคุกลาดยาว เหมือนรู้ว่าสักวันหนึ่งงานเขียนเหล่านั้นมันจะได้ใช้
ประจักษ์ ก้องกีรติ เรียกสิ่งที่รัฐเผด็จการของสฤษดิ์กระทำต่อนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าว่าเป็นการ แยก “ปัญญาชน” ออกจาก “สาธารณะ” ซึ่งแม้ว่าจะมิได้ทำลายชีวิตทางกายภาพ แต่ก็เท่ากับทำลายชีวิตทางการเมืองวัฒนธรรมซึ่งสำคัญยิ่งยวดต่อการดำรงชีวิตในฐานะปัญญาชน ทำให้พวกเขาตายจากสาธารณะ หรือหมดบทบาทของการเป็นปัญญาชนสาธารณะ (public intellectual)

แต่อำนาจเผด็จการที่ไหนก็ไม่ยั่งยืน หลังอสัญกรรมของสฤษดิ์ พืชพันธุ์แห่งการต่อต้านเผด็จการก็ก่อตัวขึ้น โดยเฉพาะขบวนการนักศึกษาที่ก่อตัวจากกลุ่มอิสระตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมตัวมาเป็นองค์การนักศึกษา และศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จนเกิดเป็นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ที่ล้มอำนาจเผด็จการที่สืบทอดมานานนับสิบปี

หนึ่งเดียว หลัง 14 ตุลา 2516-ว่าด้วยกรณีสวรรคต-กงจักรปีศาจ

เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ได้ทำลายเผด็จการทหารที่ครอบงำการเมืองไทยมากว่า ๒ ทศวรรษ และเป็นการรื้อฟื้นหนังสือต้องห้ามจำนวนมากให้กลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง ตลาดหนังสือหลัง ๑๔ ตุลา มีความเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่อง “ปริมาณ” ที่มีการเกิดขึ้นของสำนักพิมพ์อิสระ ที่มุ่ง “ขาย” ความคิดมากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้มีหนังสือออกมาเป็นจำนวนมาก ขณะที่ “คุณภาพ” ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ๑๔ ตุลานำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาครั้งใหญ่ของสังคมไทย

๑๔ ตุลายังนำมาซึ่งการปลดปล่อยงานเขียนในทศวรรษ ๒๔๙๐ ที่ถือเป็นงาน “ต้องห้าม” ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง นับเฉพาะหนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้รับการตีพิมพ์นับหมื่นเล่มในเวลาไม่กี่เดือน จนต้องมีการจัดสัมมนาว่าด้วยหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะ

แต่ ๑๔ ตุลาก็ไม่สามารถให้ความกระจ่างต่อความดำมืดของประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ นั่นคือ กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙

กลางปี ๒๕๑๗ วิวาทะว่าด้วยกรณีสวรรคตก็เริ่มขึ้น เมื่อหนังสือ กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ โดย สรรใจ แสงวิเชียร วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้ตั้งข้อสงสัยต่อบทบาทการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายปรีดี พนมยงค์ ในกรณีสวรรคต หลังจากนั้นเพียงสัปดาห์เดียว ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ของ สุพจน์ ด่านตระกูล ก็ออกมาโต้อย่างทันควัน สุพจน์นอกจากเสนอว่าปรีดีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว ยังขยับไปอีกขั้นว่าใครน่าจะมีส่วนบ้าง หนังสือทั้งสองเล่มนี้ได้รับการพิมพ์ซ้ำอย่างรวดเร็วและตามมาด้วยหนังสือที่เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตอีกจำนวนมาก และในบรรดาหนังสือว่าด้วยกรณีสวรรคต เล่มที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดก็คือ กงจักรปีศาจ ซึ่งแปลมาจาก The Devil’s Discus ของ เรย์น ครูเกอร์ (Rayne Kruger) ความจริงแล้วฉบับภาษาอังกฤษนั้นถูกจัดเป็น “สิ่งพิมพ์ที่ห้ามเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร” ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ หรือแทบจะทันทีที่หนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่าย เพียงแต่ครั้งนั้นหนังสือเล่มนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเนื่องจากเป็นภาษาอังกฤษและช่วงเวลานั้นยังอยู่ในยุคเผด็จการ

กงจักรปีศาจ แปลโดย เรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช ร.น. จัดพิมพ์โดยชมรมนักศึกษากฎหมาย ด้านหลังบอกว่า “พิมพ์ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคัดจากสำนวนศาลแพ่งคดีดำที่ ๗๒๓๖/๒๕๑๓ ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ โจทก์ บริษัทสยามรัฐ จำกัด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพวก จำเลย” ความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้เริ่มจากนายปรีดี พนมยงค์ ได้ฟ้อง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพวก ในข้อหาหมิ่นประมาทว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต โดย กงจักรปีศาจ ฉบับแปลนี้เป็นเอกสารประกอบการฟ้อง และเมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว เอกสารสำคัญนี้ก็เหมือนได้รับความคุ้มครองในทางกฎหมายระดับหนึ่ง หลังจากนั้น กงจักรปีศาจ (ฉบับโรเนียว) ก็เผยแพร่อยู่ในวงแคบ ๆ ในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ก่อน ๑๔ ตุลา แต่ภายหลังเมื่อมีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเพื่อร่วมวิวาทะกับหนังสือกรณีสวรรคตเล่มอื่น ๆ ทางคณะผู้จัดพิมพ์กลับเปลี่ยนใจ “ถอด” เนื้อหาในส่วนแรก (๑๖ หน้า) ที่ประกอบด้วยชื่อผู้รับผิดชอบและคำชี้แจงในการจัดพิมพ์ออก พร้อม ๆ กับแปรสภาพให้ กงจักรปีศาจ เป็นหนังสือใต้ดิน ที่แม้ไม่วางขายทั่วไปแต่ก็เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เมื่อมีการประกาศรายชื่อหนังสือต้องห้าม จะมี กงจักรปีศาจ รวมอยู่ด้วย

เอาหนังสือ เผาคน-ประชาชาติรายวัน ประชาธิปไตย อธิปัตย์-จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม-ชาวนาไทยกับการเปลี่ยนแปลง

นักศึกษาผู้เคราะห์ร้ายถูกฝูงชนทุบตีและนำมาเผาบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ เหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการฆาตกรรมทางการเมืองครั้งใหญ่แล้ว ยังนำมาสู่การห้ามหนังสือครั้งใหญ่ที่สุดของสังคมไทยอีกด้วย ภายหลังจากอาชญากรรมรัฐที่กระทำต่อนิสิตนักศึกษาด้วยการล้อมปราบและทารุณกรรมในเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ แล้ว ตกค่ำ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนและนำประเทศเข้าสู่การปกครองระบอบเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง ในคืนนั้นเอง คณะปฏิรูปฯ ได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์รายวันทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ และตั้งคณะกรรมการซึ่งมีนายประหยัด ศ. นาคะนาท เป็นประธาน เพื่อพิจารณาคำร้องว่ามีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนที่ควรได้ดำเนินการต่อไป ผลปรากฏว่า ประชาชาติรายวัน ประชาธิปไตย อธิปัตย์ ฯลฯ ถูกลบออกจากสารบบหนังสือพิมพ์ไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนฉบับที่เหลือก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองทุกครั้งที่ตีพิมพ์ ในคำสั่งเดียวกัน คณะปฏิรูปฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่ริบหรือทำลายหนังสือที่เห็นว่าจะก่อให้เกิดความแตกสามัคคีในชาติและทำให้ประชาชนเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ เท่านั้นยังไม่พอ ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๓ ได้มีการออกประกาศ ๔ ฉบับ ระบุรายชื่อสิ่งพิมพ์ต้องห้ามรวมแล้ว ๒๑๙ รายการ ซึ่งนับเป็นการห้ามหนังสือครั้งใหญ่ที่สุดในสังคมไทย

เมื่อผสานกับนโยบายการปราบปรามอันเข้มงวด ก็ทำให้ประชาชนต้องนำหนังสือมาทำลายเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ย้อนนึกไปยังสมัยพระเจ้าปราสาททอง เพียงแต่เปลี่ยนจากหนังสือคุณไสยมาเป็นหนังสือการเมืองเท่านั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้มีอำนาจสมัยนั้นมิได้มีความรู้ในการห้ามเสียด้วยซ้ำ หลายเล่มก็ดูเพียงชื่อผู้เขียน เช่น จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม โดย ปรีดี พนมยงค์ หลายเล่มก็ดูเพียงชื่อหนังสือ เช่น ชาวนาไทยกับการเปลี่ยนแปลง ของ สุเทพ สุนทรเภสัช กระบวนการห้ามหนังสืออย่างบ้าคลั่งนี้ทำให้ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ถึงกับทิ้งงานวิชาการโดยสิ้นเชิง เมื่อ กลยุทธในการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทย ของเขาได้กลายเป็น ๑ ใน ๒๑๙ หนังสือต้องห้าม

นอกจากการห้ามหนังสืออย่างเป็นทางการแล้ว เอกสารราชการจำนวนมากที่เก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือหน่วยงานราชการอื่น ที่เคยเปิดให้ใช้ภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ก็ถูก “ห้าม” เช่นเดียวกัน ทั้งที่เอกสารเหล่านั้นกล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีต เช่น การเจรจาเขตแดนกับอังกฤษและฝรั่งเศสในสมัย ร. ๕ ซึ่งส่งผลสำคัญต่อวงวิชาการเป็นอย่างมาก

แต่เมื่อขบวนการคอมมิวนิสต์ล่มสลายลงทั้งในระดับประเทศและสากลในต้นทศวรรษ ๒๕๓๐ หนังสือต้องห้ามหลายเล่มก็ได้ออกมาวางจำหน่ายอีกครั้งแต่กลับไม่คึกคักเหมือนเคย เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่มีอารมณ์ร่วมในการอ่านหนังสือเหล่านี้อีกต่อไปจึงไม่คุ้มที่จะพิมพ์ออกมาในเชิงธุรกิจ มันจึงปรากฏอยู่เพียงตามร้านหนังสือเก่าทั้งที่รัฐเองก็อนุญาตอยู่กลาย ๆ เพราะใน พ.ศ. นี้ คอมมิวนิสต์มิใช่ภัยของรัฐอีกต่อไป การออก “พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๓ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙“ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ก็เป็นเพียงการอนุญาตอย่างเป็นทางการเท่านั้น

ต้องห้าม เพราะถามไม่ตรงที่ต้องการให้ตอบ-การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

ปัจจุบันหอจดหมายเหตุแห่งชาติยังมีเอกสารที่ “งดให้บริการ” จำนวนมาก ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง แต่เนื่องจากเหตุผลดังกล่าวไม่อาจนำมาอ้างได้ เพราะจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร จึงไม่มีคำชี้แจงใด ๆ สำหรับการ “งดให้บริการ” นี่เป็นอีกหนึ่งของความรู้ที่ยังคงถูกจองจำ เมื่อคอมมิวนิสต์ไม่เป็นภัยคุกคามแล้ว การห้ามหนังสือก็ดูเหมือนจะคลี่คลายลง แต่จู่ ๆ ก็เกิดปรากฏการณ์การห้ามโดย “ภาคประชาชน” มูลเหตุเกิดจากข้อความสั้น ๆ ที่ปรากฏอยู่บนปกหลังหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ของ สายพิน แก้วงามประเสริฐ ว่า “วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ ?” นี่มิใช่คำถามใหม่ แม้แต่ปราชญ์สยามอย่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็เคยทูลถามสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “เรื่องท่านผู้หญิงโม้นี้ดูก็ประหลาด ...ไม่เห็นว่าแสดงแผลงอิทธิฤทธิ์อะไร เป็นแต่ว่าคุมพวกผู้หญิงเป็นกองหลังเท่านั้น ทำไมยกย่องกันหนักหนาไม่ทราบ” แต่สายพินไปไกลกว่านั้นด้วยคำถามใหม่ ๆ เช่น ทำไมจึงต้องเร่งสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีขึ้นในปี ๒๔๗๗, ทำไมต้องเร่งเปิดอนุสาวรีย์ทั้งที่เป็นเพียงรูปปูนปลาสเตอร์ปั้นแล้วทาสีทองทับเท่านั้น, เหตุใดต้องเปลี่ยนท่าทางของท้าวสุรนารี ฯลฯ

จากคำถามเหล่านี้ สายพินได้เริ่มค้นหาคำตอบด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์จนพบว่า วีรกรรมของท้าวสุรนารีถูกนำมาใช้เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองในทศวรรษ ๒๔๗๐ และนั่นก็คือที่มาที่ทำให้ท้าวสุรนารีเป็นสามัญชนคนแรกที่ทางการสร้างอนุสาวรีย์ให้ งานวิจัยชิ้นนี้ได้เป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี ๒๕๓๖ และอีก ๒ ปีต่อมา สำนักพิมพ์มติชนก็ได้นำมาปรับปรุงเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ก็มีชาวโคราช ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชน ออกมาประท้วงผู้เขียนและสำนักพิมพ์ว่าลบหลู่สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่เคารพ ก่อให้เกิดการแตกแยกในสังคม พร้อมทั้งข่มขู่ว่า หากย่างเท้าเข้ามาเมืองโคราชจะถูก “ต้อนรับ” อย่างสาสม มีการรวมพลังคนนับหมื่นที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ทำให้สำนักพิมพ์มติชนต้องเก็บหนังสือออกจากท้องตลาด ขณะที่ผู้เขียนก็ถูกย้ายจากโรงเรียนสะแกราชธวัชศึกษา อำเภอปักธงชัย นครราชสีมา สายพินสรุปว่าเรื่องของท้าวสุรนารียังคงถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน และชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของวิชาประวัติศาสตร์ ที่ไม่ช่วยให้คนในสังคมแก้ปัญหาด้วยการค้นหา “ความจริง” มาโต้แย้ง “ความจริง” ที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์ นับว่าเป็นเรื่องน่าแปลกที่หนังสือเรื่องเดียวกัน เมื่ออยู่ใน “พื้นที่” มหาวิทยาลัย ใน “รูปแบบ” วิทยานิพนธ์ ไม่มีปัญหา แต่เมื่อกลายเป็นหนังสือเล่มวางขายทั่วไปในท้องตลาด กลับก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ความผิดของหนังสือเล่มนี้คืออยู่ผิดที่ผิดทาง หรือว่าอยู่ในสังคมที่ไม่ยอมรับความเชื่อที่แตกต่าง และพร้อมที่จะจัดการความเชื่อที่แตกต่างด้วยกำลัง ผลจากกรณีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดขนบบางอย่างขึ้นในการทำงานวิชาการว่า บางเรื่อง “ ไม่เชื่อก็อย่า (แม้แต่) ตั้งคำถาม ”

สังคมใดที่ขาดความหลากหลาย สังคมนั้นก็จะขาดโอกาสและภูมิคุ้มกันเมื่อประสบกับภัยที่คาดไม่ถึง เช่นเดียวกับวงการหนังสือ ถึงแม้จะมีหลายเหตุผลมารองรับปรากฏการณ์ข้างต้น เช่นเหตุผลทางเศรษฐกิจ (ความคุ้นทุน) การเมือง (สถานการณ์บ้านเมือง) หรือวัฒนธรรม (การยอมรับของคนในสังคม) แต่ทั้งหมดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ “ห้ามหนังสือ” จำนวนมากมิให้ออกมาเป็นทางเลือกของสังคม และถ้าปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเป็นไปในทิศทางนี้ ก็น่าเป็นห่วงว่าหนังสือจะเป็นเพียงสถาบันที่ผลิตซ้ำความคิด ความเชื่อเดิมของสังคม
และเมื่อนั้น... ผู้ปกครองต่างยินดีที่มี “ หนังสือต้องห้าม ” โดยที่ไม่ต้อง “ห้ามหนังสือ”

หมายเหตุ
ต้องห้าม ว. สงวนไว้, ไม่ให้แตะต้อง
หนังสือ น. อักขระที่กำหนดแทนเสียงในภาษามนุษย์, ตัวหนังสือ ก็เรียก, จดหมาย หรือ แผ่นกระดาษที่มีอักขระกำกับและระบุเนื้อความ เช่น ส่งหนังสือ, กระดาษที่มีอักขระและคุมเข้าเป็นเล่ม, โดยปริยายหมายถึง วิชาความรู้ เช่น ไม่รู้หนังสือ คือ อ่านหนังสือไม่ออกหรือไม่มีความรู้
หนังสือต้องห้าม หมายถึง แผ่นกระดาษที่มีอักขระกำกับ หรือความรู้ ที่ถูกสงวนไว้, ไม่ให้แตะต้อง

 

เพิ่มเติมค่ะ ได้มาจากตรงนี้ > >  http://www.lovesiamoldbook.com/article?id=76726&lang=th

หนังสือต้องห้าม : ความรู้ที่ขาดหายไปในประวัติศาสตร์

หนังสือต้องห้าม : ความรู้ที่ขาดหายไปในประวัติศาสตร์

หลายคนคงจำกันได้ว่าหลังเหตุการณ์การทำลายชีวิตนักศึกษาอย่างเหี้ยมโหดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลเผด็จการในสมัยนั้น ยังได้มีการติดตามทำลายหนังสืออีกมากมาย ทั้งที่เป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียนแสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำผู้อ่านให้เกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้าง หนังสือเหล่านี้ได้ถูกประกาศรายชื่อเป็นหนังสือต้องห้าม จำนวน  219 รายชื่อ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการยกเลิก ดังนั้น หากว่าผู้ใดที่มีหนังสือเหล่านี้ไว้ในครอบครอง จำเป็นต้องเผาและทำลายหนังสือทิ้งทุกเล่ม เพื่อความปลอดภัยของชีวิตตนเองและครอบครัว จึงมีผลให้หนังสือนับล้านเล่มถูกเผา เล่มแล้วเล่มเล่า ถูกฝัง ถูกทำลาย และปัจจุบันได้กลายเป็นหนังสือหายากในที่สุด

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามคนสำคัญ เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ต้องห้ามบางส่วนในช่วงนั้นผ่าน ช่วงหลังแห่งชีวิต ว่า "สถานการณ์ในเมืองไทยเลวร้ายลงไปทุกที นิสิตนักศึกษาถูกจับเข้าคุก และถูกทรมานอย่างไร้ศักดิ์ศรี ยังพวกที่หนีเข้าป่าก็มีมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงพวกที่หาทางหนีออกมาเมืองนอกและพวกที่ติดอยู่เมืองนอก ข้าพเจ้าปรึกษาหารือกับคุณป๋วยและลูกชายของท่านอีกสองคน และเพื่อนฝูงที่อยู่ต่างประเทศ ร่วมกันตั้ง มูลนิธิมิตรไทย (Mitra Thai Trust) ขึ้น เพื่อช่วยคนในเมืองไทย แม้ที่เข้าป่าไป หรือติดอยู่ในคุก รวมถึงคนไทยที่ตกยากอยู่ต่างประเทศ จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ เราเห็นความจำเป็นที่ต้องออกนิตยสารภาษาไทย ให้ชื่อว่า 'มิตรไทย' เพราะเมืองไทยในช่วงนั้นปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทุก ๆ ทาง แม้ข่าวสารข้อเท็จจริงก็ปรากฏออกมาไม่ได้ โรงพิมพ์บางแห่งถูกล่ามโซ่แท่นพิมพ์ ดังนั้นการตีพิมพ์นิตยสารมิตรไทย นอกจากจะให้ข้อมูลแล้ว ยังต้องการเสนอทัศนะในทางเสรี โดยต้องการให้นิตยสารนี้แพร่หลายทั่วไป ทั้งในหมู่คนไทยที่เมืองนอกและต้องการแอบเอาเข้าไปจำหน่ายจ่ายแจกในเมืองไทยอีกด้วย"

เช่นเดียวกับ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการ นิตยสาร "ฟ้าเดียวกัน" ที่ได้เขียนถึง "หนังสือต้องห้าม : ความรู้ที่ถูกจองจำ" ให้เข้าใจว่า "ตลาดหนังสือหลัง 14 ตุลา มีความเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่อง 'ปริมาณ'  ที่มีการเกิดขึ้นของสำนักพิมพ์อิสระ ที่มุ่งขายความคิดมากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้มีหนังสือออกมาเป็นจำนวนมาก ขณะที่'คุณภาพ' ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ 14 ตุลา นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาครั้งใหญ่ของสังคมไทย และเหตุการณ์ 14 ตุลา ยังนำมาซึ่งการปลดปล่อยงานเขียนในทศวรรษ 2490 ที่ถือเป็นงาน "ต้องห้าม" ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง นับเฉพาะหนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้รับการตีพิมพ์นับหมื่นเล่มในเวลาไม่กี่เดือน จนต้องมีการจัดสัมมนาว่าด้วยหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะ" จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้มีอำนาจสมัยนั้น มิได้มีความรู้ในการห้ามเสียด้วยซ้ำ หนังสือหลายเล่มก็ดูเพียงชื่อผู้เขียน เช่น จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14ตุลาคม โดย ปรีดี พนมยงค์ หลายเล่มก็ดูเพียงชื่อหนังสือ เช่น ชาวนาไทยกับการเปลี่ยนแปลง ของ สุเทพ สุนทรเภสัช กระบวนการห้ามหนังสืออย่างบ้าคลั่งนี้ทำให้ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ถึงกับทิ้งงานวิชาการโดยสิ้นเชิง เมื่อ กลยุทธในการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทย ของเขาได้กลายเป็น 1 ใน 219 หนังสือต้องห้าม

หากเราจะมองย้อนประวัติศาสตร์ของการห้ามหนังสือ จะเห็นได้ว่ามีความเป็นมาพร้อม ๆ กับการกำเนิดขึ้นของหนังสือ ดังภาพบันทึกเหตุการณ์เมื่อ 2,200 ปีที่แล้ว ที่จักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้บัญชาให้เผาหนังสือทุกเล่มในราชอาณาจักรของพระองค์ ถือเป็นปฏิบัติการเผาหนังสือที่เก่าแก่ที่สุด จนถึงปัจจุบันการห้ามหนังสือยังมีอยู่ โดยข้ออ้างสำคัญ คือ เรื่องความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน แม้กระทั่งหนังสือที่ขายดีที่สุดในโลกเรื่องหนึ่งอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ถูกห้ามจากโบสถ์คริตสต์บางแห่ง เนื่องจากขัดกับหลักศาสนานั่นเอง

แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นหนังสือที่ถูกห้ามโดย  สมาคมห้องสมุดโรงเรียนและสมาคมห้องสมุดแห่งชาติ สหรัฐ

ความเป็นจริงในปัจจุบันยังมีคนหนุ่มสาวที่แสวงหาความรู้ ความจริง ในสังคมอีกหลายคนที่ใฝ่ฝันอยากอ่านหนังสือที่ถูกห้ามอ่านเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่เคยรู้เลยว่ามีหนังสือเหล่านี้อยู่ และถึงแม้ว่าจะรู้จักก็คงไม่ต้องการอ่านอะไรมากนัก ถ้าหากรัฐไม่ออกคำสั่งให้เป็นหนังสือที่ห้ามอ่านและห้ามแตะต้อง ครอบครอง จึงทำให้ต้องอยากลองอ่านกันสักครั้งว่าเป็นอย่างไร เป็นเพราะเหตุใด ทำไมถึงต้องห้ามอ่าน ถ้าอ่านแล้วจะส่งผลต่อสังคมอย่างไร แม้ว่าเวลาต่อมาหลายเล่มในหนังสือต้องห้าม ก็ได้ถูกแนะนำให้เป็นหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน โดยหลักเกณฑ์หนึ่งในการคัดเลือก คือ จะต้องเป็นหนังสือที่โดดเด่น มีอิทธิพลต่อความคิด อารมณ์ความรู้สึก ของผู้อ่านจำนวนมากในยุคหนึ่ง ๆ และมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในจำนวน ๑๐๐ เล่มหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน ที่เลือกมานี้ มีถึง ๗ เล่มที่เคยเป็นหนังสือต้องห้ามในวาระต่าง ๆ กัน อาทิ  นิราศหนองคาย โดย นายทิม สุขยางค์ / ทรัพย์ศาสตร์ โดย พระยาสุริยานุวัตร / แลไปข้างหน้า โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ / กบฏ ร.ศ. 130 โดย เหรียญ ศรีจันทร์ และ เนตร พูนวิวัฒน์ /โฉมหน้าศักดินาไทย และ กวีการเมือง ของ จิตร ภูมิศักดิ์ / พิราบแดง ของ สุวัฒน์ วรดิลก

หนังสือ (เคย)ต้องห้าม ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน

นิราศหนองคาย โดย ทิม สุขยางค์ วรรณคดีที่ถูกสั่งเผาในรัชกาลที่ ๕

ทรัพย์ศาสตร์ โดย พระยาสุริยานุวัตร

แลไปข้างหน้า โดย กุหลาย สายประดิษฐ์

กบฏ ร.ศ. 130 โดย เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์

              โฉมหน้าศักดินาไทย โดย จิตรภูมิศักดิ์

กวีการเมือง โดย จิตรภูมิศักดิ์

พิราบแดง โดย สุวัฒน์ วรดิลก

บทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่า หนังสือที่ "ถูกห้าม" ของผู้มีอำนาจในยุคสมัยหนึ่ง อาจจะเป็นหนังสือ "ดีที่ควรอ่าน" ในอีกยุคหนึ่งก็ได้ จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่เคยมีใครเผาหนังสือต้องห้ามได้หมดสักที แม้ว่าปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า สังคมใดที่ขาดความหลากหลาย สังคมนั้นก็จะขาดโอกาสและภูมิคุ้มกันเมื่อประสบกับภัยที่คาดไม่ถึง เฉกเช่นเดียวกับการ "ห้ามหนังสือ" จำนวนมากมิให้ออกมาเป็นทางเลือกของสังคม และถ้าปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเป็นไปในทิศทางนี้ ก็น่าเป็นห่วงว่า หนังสือจะเป็นเพียงสถาบันที่ผลิตซ้ำความคิด ความเชื่อเดิมของสังคม และเมื่อนั้น ....สังคมก็พร้อมจะอ่าน "หนังสือต้องห้าม" มากขึ้นเช่นกัน

 

รายชื่อหนังสือต้องห้าม (ปัจจุบันยังไม่มีการยกเลิก)
ประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง

ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้ เป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียนแสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำผู้อ่านให้เกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน คือ
1. การเมืองเรื่องของประชาชน เขียนโดย แนวร่วมประชาชาติกันทรารมย์
2. เก้าอี้ป่า เขียนโดย เก้าอี้ป่า
3. การ์ตูนปฏิวัติจากจีนใหม่ หญิงแดง จดหมาย ขนไก่ กองทหาร เขียนโดย หวาซาน หลิวจี้อิ่ว
4. การปฏิวัติของจีน เขียนโดย กองบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์
5. การศึกษาปฏิวัติประชาชนลาว เขียนโดย ไกรสร พรหมวิหาร
6. ก่อนไปสู่ภูเขา แปลโดย สถาพร ศรีสัจจัง
7. กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง แปลโดย ประไพ วิเศษธานี
8. เข้าโรงเรียน เขียนโดย กวั่นหวา
9. ข้อขัดแย้งระหว่างสหภาพโซเวียต กับ จีน เขียนโดย กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เหยินหมิน ยึเป้า และกองบรรณาธิการนิตยสารหงฉี
10. คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สำนักพิมพ์ต่างประเทศ ปักกิ่ง และสุนทรการพิมพ์ หจก.จรัลสนิทวงศ์ บางพลัด      กรุงเทพมหานคร
11. คัมภีร์นักปฏิวัติ เขียนโดย กลุ่มอิสานปฏิวัติ
12. คาร์ลมาร์กซ์ ผู้สร้างทฤษฎีนิรันดร เขียนโดย วิตาลี ไวกอดสกี
13. ความชัดเจนทางประวัติศาสตร์ของเผด็จการ ชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ปรากฏผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สุวิทย์การพิมพ์ ซอยอรรถสิทธ์ สาธรใต้ กรุงเทพฯ
14. เคียงข้างกันสร้างสรรค์โลก เขียนโดย แสงเสรี
15. ความคิดของเหมาเจ๋อตุง เขียนโดย สุรัฐ โรจนวรรณ
16. โจวเอินไหล ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่วัชรินทร์การพิมพ์ 364 ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพฯ
17. จะวิเคราะห์ชนชั้นในชนบทอย่างไร เขียนโดย กลุ่มเยาวชนรับใช้ชาติ
18. จากโฮจิมินห์ ถึง เปลื้อง วรรณศรี เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
19. จรยุทธ-ใต้ดิน เขียนโดย ตะวันฉาย
20. จีนคอมมิวนิสต์ เขียนโดย สนอง วิริยะผล
21. จิตใจปฏิวัติ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
22. จีนแผ่นดินแห่งการปฏิวัติตลอดกาล เขียนโดย Jan Myrdal & Gun Kessle
23. ลัทธิสังคมนิยมแบบเพ้อฝันและแบบวิทยาศาสตร์ แปลโดย อุทิศและโยธิน
24. ลัทธิวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ เขียนโดย ตะวันฉาย
25. ลัทธิเลนิน กับลัทธิแก้สมัยใหม่ เขียนโดย ชมรม 13
26. ลัทธิเลนินจงเจริญ เขียนโดย กองบรรณาธิการนิตยสารหงฉี
27. ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ว่าด้วยทฤษฎีสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ แปลโดย ศูทร ศรีประชา
28. ว่าด้วยรากฐานทางสังคมกลุ่มหลินเปียวที่ค้านพรรค เขียนโดย เหยาเหวินหยวน
29. วิจารณ์คำแถลงของพรรคคอมมิวนิสต์อเมริกา กระจกส่องพวกลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ธเนศ วรการพิมพ์ 489 ถนนบำรุงเมือง กรุงเทพฯ
30. วิพากษ์ลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ สมชายการพิมพ์ 270/77 ซอยวิมลสรกิจ บางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร
31. วิวัฒนาการความคิดสังคมนิยม เขียนโดย ชาญ กรัสนัยปุระ
32. ว่าด้วยรัฐบาลรวม เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
33. วิเคราะห์การต่อสู้ของพรรคลาวด๋อง เขียนโดย ธีรยุทธ บุญมี
34. วิวัฒนาการของมาร์กซิสม์ เขียนโดย น.ชญานุตม์
35. วัฒนธรรมจีนใหม่ เขียนโดย ไจ๋เปียน
36. วี.ไอ.เลนิน-รัฐ เขียนโดย ชมรมหนังสือแสงดาว
37. วีรบุรุษสู้รบ เขียนโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสานแห่งประเทศไทย
38. ว่าด้วยประชาธิปไตยรวมศูนย์ แปลโดย เศรษฐวัฒน์ ผดุงรัฐ
39. ลัทธิวัตถุนิยมวิภาษ และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ เขียนโดย โจเซพ สตาลิน ประกาย สุชีวิน แปล
40. ภาวะของศิลปะใต้ระบอบเผด็จการฟาสซีสม์ เขียนโดย จิตติน ธรรมชาติ
41. หลักลัทธิเลนิน เขียนโดย บำรุง ไพรัชวาที
42. หนทางการปฏิวัติไทย ไม่ปรากฏผู้แต่ง และไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์
43. 50 ปี พรรคคอมมิวนิสต์คิวบา 50 ปี สหพันธ์สตรีคิวบา ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่พิมพ์ที่ ประจักษ์การพิมพ์ กรุงเทพฯ
44. เดินทางทัพทางไกลไปกับประธานเหมา เขียนโดย เฉินชางเฟิ่ง
45. เดินทางไกลครั้งที่ 2 เขียนโดย เหยิน จางหลิน
46. หยางกึนซือวีรชนอมตะ เขียนโดย ว่างเฮา
47. เหมาเจ๋อตุง ผู้นำจีนใหม่ เขียนโดย เทิด ประชาธรรม
48. นอร์แมน เบทูน แปลโดย ศรีนรา
49. บนเส้นทางไปสู่สังคมนิยมจีน เขียนโดย ธีรยุทธ บุญมี
50. บทกวีเพื่อผู้ถูกกดขี่ เขียนโดย วิทยากร เชียงกูล
51. คาร์ลมาร์กซ์ ค่าจ้าง ราคา และกำไร แปลโดย ประสาท ลีลาเธียร
52. บันทึกของไพ่ฉวิน ม่านเทียนเสื่อ แปลโดย แจ่ม จรัสแสง
53. ประวัติศาสตร์ 30 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขียนโดย หูเฉียวมุ เจอดจำรัสแปล
54. ถังเหล่ยเวียดนาม เขียนโดย อุดร ทองน้อย
55. ทหารน้อยจางก่า เขียนโดย สีกวงเย่า
56. แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เขียนโดย คาร์ล มาร์กซ์ เฟรเดอริค เองเกลส์
57. บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินา เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์
58. ปัญหาลัทธิเลนินในยุคของเรา เขียนโดย ชมรม ดาวรุ่ง
59. แนวร่วมปลดแอกของโฮจิมินห์ เขียนโดย บัณฑูร เวชสาร
60. นิพนธ์ปรัชญา 4 เรื่องของประธานเหมาเจ๋อตุง แปลโดย ชมรมหนังสือรวงข้าว
61. แนวทางแห่งการต่อสู้ แนวทางแห่งชัยชนะ เขียนโดย กลุ่มพลังชน
62. นักศึกษาจีนแนวหน้าของขบวนการปฏิวัติสังคม แปลโดย เทิด ธงธรรม วรรณา พรประเสริฐ
63. ด้วยเลือดและชีวิต เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์
64. แนวร่วมเอกภาพเพื่อการปลดแอกแห่งชาติ เขียนโดย ชมรมหนังสืออิสรภาพ
65. ทฤษฎีการเมืองว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง สำหรับชนชั้นกรรมาชีพ แปลโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
66. ชีวทัศน์หนุ่มสาว ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่บริษัทบพิธการพิมพ์ 70 ถนนราชบพิธ กรุงเทพมหานคร
67. ชีวทัศน์เยาวชน ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
68. ชาวนาไทยกับการเปลี่ยนแปลง แปลโดย สุเทพ สุนทรเภสัช
69. เช กูวารา นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ เขียนโดย ศรีอุบล
70. ชีวิตในคอมมูน เขียนโดย สันติสุข
71. ชนกรรมาชีพทั่วโลก จงสามัคคีกันคัดค้านศัตรูร่วมกับเรา เขียนโดย สำนักพิมพ์เข็มทิศ
72. ซ้ายทารก เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
73. สืบทอดภารกิจปฏิวัติ เขียนโดย ชมรมดาวรุ่ง
74. สุนทรพจน์ของประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่พิมพ์ที่ศรีเพ็ชรการพิมพ์ 169/120 ตรอกวัดดีดวด บางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
75. สงครามปฏิวัติ เขียนโดย ชมรมดาวรุ่ง
76. สงครามกองโจรของ เช กูวารา แปลโดย ฤตินันทน์
77. สรรนิพนธ์ โฮจิมินห์ แปลโดย วารินทร์ สินสูงสุด ปารวดี วรุณจิต
78. เสียงร้องของประชาชน แปลโดย จิรนันท์ พิตรปรีชา
79. สงครามยืดเยื้อ เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
80. สรรนิพนธ์เลนิน คอมมิวนิสต์ปีกซ้าย โรคไร้เดียงสา แปลโดย นพคุณ ศิริประเสริฐ
81. สรรนิพนธ์เลนิน เพื่อคนจนในชนบท แปลโดย พัลลภา ปั้นงาม
82. สงครามอุโมงค์ เขียนโดย เจ๋อเหมย ปี้เหลย
83. สตรีกับภารกิจแห่งการปฏิวัติ เขียนโดย จินดา ไชยโยทยาน
84. ยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่ ต่อสู้กับคลื่นลม ไม่ปรากฏผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
85. ระลึกคอมมูนปารีสครบร้อยปี เขียนโดย ชมรมหนังสือตะวันแดง
86. ศัพทานุกรมปรัชญา เขียนโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
87. สาธารณรัฐประชาชนจีน แปลโดย ถ่องแท้ รจนาสัณห์
88. เมาเซตุง เขียนโดย ศิรวิทย์
89. ยูโกสลาเวีย เป็นสังคมนิยมจริงหรือ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน
90. ปัญหาปฏิวัติประเทศไทย เขียนโดย กลุ่มชนภูเขา
91. เอกสารสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 10 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เขียนโดย กลุ่มเยาวชนรักชาติ
92. โฉมหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ไทย เขียนโดย สายใย เทอดชูธรรม
93. พระเจ้าอยู่ที่ไหน เขียนโดย นายผี
94. พระสงฆ์ลาวกับการปฏิวัติ เขียนโดย คำตัน
95. แล้วเราก็ปฏิวัติ ไม่ปรากฏผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ เจริญวิทย์การพิมพ์ บ้านพานถม กรุงเทพมหานคร
96. รัฐกับการปฏิวัติ เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
97. เลนินจักรวรรดินิยมชั้นสูงสุดของทุนนิยม แปลโดย ประสาท ลีลาเธียร
98. ว่าด้วยปัญหาที่ดินและชาวนาของประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
99. วีรสตรีจีนปฏิวัติหลิวหูหลาน แปลโดย วีรจิตร
100. อัลเยนเด้วีรปฏิวัติ เขียนโดย สูรย์ พลังไทย
อาศัยอำนาจตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 43 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519 ข้อ 2รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่าเอกสารสิ่งพิมพ์ รวม 100 ฉบับ ตามรายชื่อข้างต้นซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ครอบครอง

ประกาศ ณ วันที่ 3 มีนาคม 2520
สมัคร สุนทรเวช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

----------------------------------------------------------------------------------------------

ประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง

ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารและสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้ เป็นเอกสารและสิ่งพิมพ์ซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียน แสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำให้ผู้อ่านเกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินไม่ว่าวิถีทางใด อันเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ ตามบัญชีรายชื่อต่อไปนี้
1. กบฏ-วรรณกรรมซาดิสม์ เขียนโดย โกสุม พิสัย
2. กบฏปากกา จัดพิมพ์โดย ชมรมสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. กวีการเมือง เขียนโดย โยธิน มหายุทธนา
4. การต่อสู้ทางชนชั้นและการปฏิวัติสังคม ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
5. การต่อสู้ของกรรมกรไทย ไม่ปรากฏผู้เขียน
6. การศึกษาเพื่อมวลชน เขียนโดย จักรกฤษณ์ นาคะรัต เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นิโคลัส เบนเนสท์ จูเลียส ไนเยียเร รวบรวมโดย สมาน เลือดวงหัด เริงชัย พุทธาโร
7. การศึกษาสำหรับผู้กดขี่ เขียนโดย เปาโลว์ แฟร์ แปลโดย ช. เขียวพุ่มแสง
8. การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพกับลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
9. กอ.รมน. องค์การสัตว์นรกของอเมริกันในประเทศไทย เขียนโดย ยอดธง ทับทิวไม้
10. กลุ่มทุนนิยมผูกขาดในประเทศไทย เขียนโดย ณรงค์ เพชรประเสริฐ
11. กลั่นมาจากสายเลือด เขียนโดย วัฒน์ วรรลยางกูร
12. กรรมกรในระบบนายทุน เขียนโดย สุภชัย มนัสไพบูลย์
13. กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทย เขียนโดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
14. กงล้อประวัติศาสตร์จีน เขียนโดย สุวรรณ วิริยะผล
15. การวิจัยเพื่อขายชาติ เขียนโดย รัก เอกราชไม้กล้า
16. ก่อนสู่เส้นทาง จัดพิมพ์โดย องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒบางแสน
17. ก่อนกลับบ้านเกิด จัดพิมพ์โดย ชมรมนักแปลนิรนาม
18. กฎหมายสหภาพแรงงานประชาชนจีน ธรรมนูญสหภาพแรงงานประชาชนจีน การประทับแรงงาน เขียนโดย แก้ว กรรมาชน
19. กรณีพิพาทไทย-ลาว จัดพิมพ์โดย กลุ่มนักศึกษา ปัญหาไทย-ลาว
20. ขบวนการกรรมกรในประเทศไทย เขียนโดย พิชิต จงสถิตย์วัฒนา
21. ขบวนการเรดการ์ด เขียนโดย จำลอง พิศนาคะ
22. ขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
23. ความเรียงว่าด้วยศาสนา เขียนโดย ยอร์จ ทอมสัน แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์
24. ความเป็นเอกภาพของชาติกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์ แช่ม พนมยงค์ อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ ภูเขาไฟ สุพจน์ ด่านตระกูล สุภัทร์ สุคนธาภิรมย์
25. คาร์ลมาร์กซ์ แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์
26. โครงสร้างสถานการณ์ จัดพิมพ์โดยกลุ่มนักศึกษาประชาชนเพื่อต่อต้านสงครามจิตวิทยา
27. คู่มือรัฐประหาร เขียนโดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์
28. ใครละเมิดอำนาจอธิปไตย เขียนโดย เขียน ธีระวิทย์ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี
29. คัมภีร์ของผู้ถูกกดขี่ เขียนโดย เปาโลว์แฟร์ แปลโดย จิราภรณ์ ศิริสุพรรณ
30. คำประกาศของความรู้สึกใหม่ เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
31. คำประกาศเพื่อสังคมใหม่ เขียนโดย จูเลียส ไนยาเร แปลโดย สันติสุข โสภณศิริ
32. ครอง จันดาวงศ์ และชีวิตบนเทือกเขาภูพานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ปรากฏผู้เขียน
33. คาร์ลมาร์กซ์ แรงงานรับจ้างและทุน เขียนโดย คาร์ลมาร์กซ์ แปลโดย รจเรข ปัญญาประสานชัย
34. คิดอย่างเยาวชนใหม่ จัดพิมพ์โดย กลุ่มหนังสือตะวันแดง
35. จงพิทักษ์เจตนารมย์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์
36. จงร่วมกันสร้างสรรค์สังคมนิยม เขียนโดย กิม อิล ซอง แปลโดย กิตติกุล
37. จากเล็กซิงตันถึง…สิบสี่ตุลา จัดพิมพ์โดย ชมรมรัฐศึกษา สจม.พรรคจุฬาประชาชน
38. จีน…หลังการปฏิวัติ เขียนโดย สิทธิสถิตย์
39. โฉมหน้าจีนใหม่ จัดพิมพ์โดย องค์การบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
40. โฉมหน้าศักดินาไทย เขียนโดย สมสมัย ศรีศูทรพรรณ
41. มนุษยธรรมกับการต่อสู้ทางชนชั้น เขียนโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
42. มาร์กซ์ จงใจจะพิสูจน์อะไร อย่างไร? เขียนโดย สุภา ศิริมานนท์
43. ศัตรูประชาชน แปลโดย กวี ศรีประชา
44. เศรษฐกิจในระบอบประชาธิปไตยแผนใหม่ เขียนโดย เสิ่นจื้อหย่วน แปลโดย ส.ว.พ.
45. เศรษฐกิจของจีน (โดยสังเขป) เขียนโดย เจิ้งสือ
46. เศรษฐศาสตร์เพื่อมวลชน เขียนโดย วิภาษ รักษาวาที
47. ศัพทานุกรมปรัชญาว่าด้วยจิตนิยมวัตถุนิยม เขียนโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
48. แนวทางการต่อสู้ของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา จัดพิมพ์โดย กลุ่มนักศึกษาประชาชนเพื่อพัฒนาชนบท
49. แนวร่วมปลดแอกประชาชนชาวไทย เขียนโดย โดนัลด์ อี วีเทอร์บี แปลโดย แสงเพลิง
50. แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์โลก เขียนโดย ฌี่ชุน แปลโดย ศรีอุบล
51. นิพนธ์ 5 บท ประธานเหมาเจ๋อตุง จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ปฏิวัติ
52. ร้อยกรองจากซับแดง เขียนโดย ประเสริฐ จันดำ
53. รุ่งอรุณ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
54. แด่เยาวชน ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
55. เบทูนนายแพทย์นักปฏิวัติ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
56. ปลุกผีคอมมิวนิสต์ เขียนโดย ธนาลัย
57. ปัญหาและแนวทางการต่อสู้ของผู้หญิง เขียนโดย ฤดี เริงชัย
58. หลักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์เบื้องต้น เขียนโดย เอิร์นเนสท์ แมนเดล แปลโดย ทวี หมื่นนิกร
59. หลักลัทธิเลนินกับการต่อสู้ด้วยอาวุธ เขียนโดย เอ.นูเบอร์ก แปลโดย รุ่งอรุณ ณ บูรพา
60. หลักลัทธิมาร์กซ์เลนิน เล่ม 1-3 แปลโดย ทวี หมื่นนิกร
61. โต้ลัทธิแก้ไทยวิจารณ์แห่งวิจารณ์ เขียนโดย อุทิศ ประสานสภา
62. ตะวันสีแดงส่องทาง เขียนโดย อุดร ทองน้อย
63. ตะวันสีแดง เขียนโดย สุทัศน์ เอกา
64. ตะวันดวงใหม่แห่งบูรพา เล่ม 1-2 เขียนโดย ทวี เกตะวันดี
65. ตื่นเถิดชาวเอเชีย เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
66. ไทย-ไท จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ไทย-ไท
67. วิญญาณปฏิวัติ เขียนโดย สีหนาท
68. ทนายแก้ต่างของลัทธิล่าเมืองขึ้นใหม่ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศปักกิ่ง
69. ด้วยมือที่หยาบกร้าน เขียนโดย นายผี รมย์ รติวัน ช.เพ็ญแข คุณาวุฒิ ไพฑูรย์สุนทร ศิริรัตน์ สถาปนวัฒน์
70. เดินทางซ้าย เขียนโดย ณรงค์ วิทยไพศาล
71. พิทักษ์เจตนารมณ์วีรชน จัดพิมพ์โดย ฝ่ายเอกสารและสิ่งพิมพ์ งานรำลึกวีรชน 14 ตุลา ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
72. วิพากษ์ นายผีโต้ลัทธิแก้ไทยวิจารณ์แห่งการวิจารณ์ อุทิศ ประสานสภา เขียนโดย อำนาจ ยุทธวิวัฒน์
73. วิพากษ์ ทฤษฎีจอมปลอม เขียนโดย กระแสทาน พรสุวรรณ
74. พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน เขียนโดย รวี โดมพระจันทร์
75. วีรชนอาเซีย จัดพิมพ์โดย กองบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์
76. ทัศนคติ ชีวิตที่ก้าวหน้า จัดพิมพ์โดย กลุ่มพัฒนา วัฒนธรรม
77. โลกทัศน์เยาวชน เขียนโดย อนุช อาภาภิรม
78. ไทยกึ่งเมืองขึ้น เขียนโดย อรัญ พรหมชมภู
79. วิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชน เขียนโดย นศินี วิทูธีรศานต์
80. ที่เขาเรียกกันว่าลัทธิแก้นั้นหมายความว่ากระไร และความเป็นมาแห่งลัทธิรีวิสชั่นนิสม์ เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์
81. ฟ้าทอง เขียนโดย อนุช อาภาภิรม
82. ยุทธวิธีของชาวบอลเชวิค เขียนโดย เจ.วี สตาลิน แปลโดย นพพร สุวรรณพาณิช
83. ผู้หญิง (1) เขียนโดย ปนัดดา เลิศล้ำอำไพ จีรนันท์ พิตรปรีชา ศรีศักดิ์ นพรัตน์ สุขสันต์ เหมือนนิรุทธ์
84. เยาวชนผู้บุกเบิก แปลโดย ศรีสารคาม
85. สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง (ทุกภาค ทุกตอน) เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
86. สรรนิพนธ์การทหารเหมาเจ๋อตุง เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
87. ผ่าตัดพุทธศาสนา จัดพิมพ์โดย ฝ่ายวิชาการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
88. วันกรรมกร นครราชสีมา ไม่ปรากฏผู้เขียน
89. ซ้องกั๋ง แบบอย่างลัทธิยอมจำนน เขียนโดย ศิวะ รณชิต
90. ศาส์นศยาม ไม่ปรากฏผู้เขียน
91. โลกทัศน์เยาวชน ฉบับเสียงเยาวชน เขียนโดย อนุช อาภาภิรม
92. สภาพการกดขี่ขูดรีด ชาวนา ชาวไร่ไทย เขียนโดย จรัส จัณฑาลักษณ์
93. เยาวชนแดง “นิทานพื้นเมืองยุคปฏิวัติ” ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
94. ระบบทุนนิยมในสังคมไทย เขียนโดย จันดา สระแก้ว
95. กบฏ ร.ศ.130 เขียนโดย ร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์ ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์
96. ไทย-ไดเจสท์ ฉบับที่ 4 ปีที่ 1 พฤษภาคม 2518 บรรณาธิการบริหาร มนตรี จึงสิริอารักษ์
97. LENIN SELECTED WORKES
98. LENIN ON WORKERS CONTROL AND THE NATIONNALISATION OF INDUSTRY
99. LENIN ON THE UNITY OF THE INTERNATIONAL : COMMUNIST MOVEMENT
100. MARX ENGELS LENIN
101. MAN AND THE SCIENTIFIC AND TECHNOLOGICAL REVOLUTION
102. SOCIALISM TODAY
103. TERIA Y CRITICA PROGRESO
104. YOUTH AND THE PARTY
อาศัยอำนาจตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 43 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519 ข้อ 2, ข้อ 4และข้อ 5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่าเอกสารและสิ่งพิมพ์ รวม 104 ฉบับ ตามบัญชีรายชื่อข้างต้นนี้ เป็นเอกสารและสิ่งพิมพ์ซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ครอบครอง
อนึ่ง ให้เจ้าของผู้ครอบครองเอกสารและสิ่งพิมพ์ ตามบัญชีรายชื่อข้างต้นนี้ และเจ้าของผู้ครอบครองเอกสารและสิ่งพิมพ์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 94 ตอนที่ 18 วันที่ 11 มีนาคม พุทธศักราช 2520 นำส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ ท้องที่ที่ตนอาศัยอยู่ ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2520
สมัคร สุนทรเวช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%88

No comments: